ประวัติความเป็นมาของ พิณพื้นบ้านอีสาน
พิณเป็นเครื่องดนตรีในสกุลเครื่องสายซึ่งประกอบด้วย กะโหลกและคอ มีสายขึงใช้ดีด อาจดีดด้วยมือแผ่นพลาสติกหรือแม้แต่เศษวัสดุที่เป็นแผ่นถากออกมาจากเขาสัตว์หรือกระดองเต่า (Midgley.1978:167-179) มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตตะ หมายถึง เครื่องดนตรีที่มีสายสำหรับดีดเป็นเสียงสันนิษฐานว่า ตตะนี้คงจะได้แบบอย่างมาจากที่ใช้สายขึ้นคันธนู เกิดการสั่นสะเทือน แต่สายธนูที่ทำหน้าที่เป็นตัวสั่นสะเทือนนั้นจะแตกต่างกันไปตามความยาว สั้นของคันธนู มีเสียงดังไม่มากนัก หาวัตถุที่ช่วยให้การเปล่งเสียงมากขึ้น จึงใช้วัตถุที่กลวงโดยเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเช่น ผลน้ำเต้า กะโหลกมะพร้าว กระบอกไม้ไผ่หรือไม้ที่ขุดทะลุทะลวงตลอด จึงเรียกส่วนนี้ว่า “วีณโปกขร” หรือกระพุ้งพิณ(Resonator)(อุดม อรุณรัตน์. 2526:91)
พิณของชนเผ่าสุเมเรียน ที่เรียกว่า ไลร์ มีมาแล้วก่อนคริสตศักราชถึง 3,000 ปี และใช้กันอย่างกว้างขวางในกลุ่มชนอียิปต์โบราณ กรีกโบราณและยุโรปสมัยกลาง ในแอฟริกา มันถูกใช้เล่นประกอบในพิธีกรรมบางอย่าง (Lsaacs and Martin.1982:225-226) ในลัทธิของศาสนาพราหมณ์มีความเชื่อมั่นว่าการบูชาด้วยเสียงดนตรีที่มีสายติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นวิถีอันที่จะบรรลุถึงซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระศิวะได้(เดอบาร์รี 2512:513)
ในทางพุทธศาสนานั้น วิถีพระโพธิญาณ ของสมเด็จพระมหาสัตว์ก็ได้อาศัยสายกลางแห่งพิณที่สมเด็จพระอัมรินทราธิราชทรงดีดถวายถึงได้ตรัสรู้สำเร็จสมโพธิญาณว่า การบำเพ็ญเพียรแสวงหาโมกษธรรมนั้น ถ้าเคร่งครัดนักก็เปรียบเสมือนการขึ้นสายพิณให้ตึงเกินไปดีดแล้วย่อมขาดถ้าหย่อนยานนักย่อมไม่มีเสียงไพเราะเหมือนขึ้นสายพิณหย่อน แต่ถ้าทำอยู่ในขั้นมัชฌิมาปานกลาง ก็เปรียบเสมือนการขึ้นสายแต่เพียงพอดีกับระดับเสียงย่อมจะให้เสียงดังกังวานไพเราะแจ่มใส ดังใจความในวรรณคดีเรื่อง พระปฐมสมโพธิถากลางถึงพิณไว้ในตอนทุกกิริยาปริวรรต ปริจเฉทที่ 8 ว่า
ขณะนั้น สมเด็จอมรินทราธิราชทราบในข้อปริวิตก ดังนั้น จึงทรงซึ่งพิณทิพย์ สามสายลงมาดีดถวายพระมหาสัตว์ สายหนึ่งเคร่งนัก พอดีดก็ขาดออกไป สายหนึ่งหย่อนนักดีดเข้าก็ไม่บันลือเสียงและสายหนึ่งนั้นไม่เคร่งไม่หย่อนเป็นปานกลางดีดเข้าก็บรรลือศัพท์ ไพเราะเจริญจิต พระมหาสัตว์ได้สดับเสียงพิณก็ถือเอานิมิตอันนั้นทรงพิจารณาแจ้งว่า มัชฌิมปฏิบัตินั้นเป็นหนทางพระโพธิญาณ
วรรณคดีเรื่องสักกปัญหสูตร ได้กล่าวถึงพิณที่พระปัญจสังขรดีดไว้ในสักกปัญหสูตรทีฆนิกายมหาวรรค (อุดม อรุณรัตน์.2526 :93-96) ไว้ว่า “พิณมีสีเหลืองเหมือนผลมะตูมสุก กระพุ้งพิณนั้นแล้วด้วยทองทิพย์ คัณพิณแล้วด้วยแก้วอินทนิล สายนั้นแล้วด้วยเงินงามลูกบิดแล้วด้วยแก้วประพาฬ พลางขึ้นสายทั้ง 50 ให้ได้เสียงแล้วจึงดีดพิณให้เปล่งเสียงอันไพเราะ” นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในการยังพิณให้เปล่งเสียงแล้ว พระปัญจสิงขรยังคิดแต่งเพลงขับได้อย่างไพเราะไว้เป็น “คีตูปสญหิโต ธมโม” ธรรมประกอบคีตอีกด้วย บรมครูทางดนตรีไทยถึงได้ยกย่องบูชาพระปัยจรสิงขรว่า เป็นครูทางดนตรีไทยถึงได้ยกย่องบูชาพระปัญจรสิงขรว่าเป็นครูทางดนตรี (การเปล่งเสียงจากสาย) จึงได้บรรจุไว้ในโองการไหว้ครูดุริยดนตรีไทยว่า “พระปัญจสิงขร พระกรเธอถือพิณดีดดังเสนาะสนั่น”
ในวรรณกรรมอีสาน 7เรื่อง ได้กล่าวถึงพิณไว้ดังตัวอย่างดังนี้ (สันทนา ทิพวงศา.2535:56-153)
เรื่องขูลูนางอั่ว ได้กล่าวถึงพิณว่า
ค้อมว่าแล้ว ตีเสบนันเนือง
พิณโพนขับ หน่อพุทธโธเมืองฟ้า
เรื่องท้าวก่ำกาดำ ได้กล่าวถึงพิณว่า
ดุริยาพร้อม ดนตรีพิณพาทย์
ระบำต่อยต้อง ชอได้ต่อยสาย
เรื่องผาแดงนางไอ่ ได้กล่าวถึงพิณว่า
มีทัง สมณาเจ้า ไหลมาเดียระดาษ
ฝูงหมู่ พิณพาทย์ฆ้อง ดังก้องสนั่นเมือง
เรื่องสังข์ศิลป์ชัย ได้กล่าวถึงพิณว่า
ฝูงเคยเหล้น ตีตะโพนพิณพาทย์
ขับแข่งฮ้อง โคลงฟ้ากาพย์สาร
เรื่อง กาฬะเกษ ได้กล่าวถึงพิณว่า
เขาก็ ตึตะโพนพิณเสพสวนเสียงห้าว
ตาตีตั้ง ภาวแพรฮับราช
เรื่อง จำปาสี่ต้น ได้กล่าวว่า
ฟังยื่น ควรควนก้อง ดุริยาม่วนมี่พุ้นเยอ
พิรพาทย์ฆ้อง ยวงย้ายย่างเชิง
เรื่องพญาคันคาก ได้กล่าวว่า
คี่น ๆ ก้อง เสียงเสพนันตีพุ้นเยอ
ควน ๆ เสียง พาทย์พิณแคนได้
คนไทยได้เคยใช้พิณหรือซุงเป็นเครื่องบรรเลงมาแต่ครั้งโบราณ จากหลักฐานภาพปูนปั้นประดับฐานเจดีย์ที่เมืองโบราณ บ้านคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นรูปนางทั้งห้า บรรเลงดุริยดนตรี นางหนึ่งบรรเลงพิณเพียะ นางหนึ่งดีดพิณ 5 สาย นางหนึ่งตีกรับ นางหนึ่งตีฉิ่ง และอีกนางหนึ่งเป็นนักร้องขับลำนำ ภาพปูนปั้นดังกล่าวเป็นศิลปะสมัยทวารวดี สันนิษฐานว่า คงปั้นขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16(สำเร็จ คำโมง. 2538 : 477) สันนิษฐานว่าพิณเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ 1,000 ปีมาแล้ว ซึ่งของเดิมมาจากจีนตอนใต้ โดยที่เราได้ดัดแปลงนำเข้าไปเล่นกับเครื่องดนตรีไทย เช่น ระนาด ฆ้องวง ซอ กลอง ฉิ่ง ฯลฯ เราเรียกวงนี้ว่า วงพิณพาด ต่อมาพิณได้หายไปจากวงพิณพาด ด้วยเหตุใดไม่ปรากฏกลับมาใช้ปี่แทน เรียกวงพิณพาดใหม่ว่า วงปี่พาด (ประยุทธ เหล็กกล้า.2512:44)
ที่มา : ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.isan.clubs.chula.ac.th
ข้อมูลเป็นประโยชน์ในการทำรายงานมากค่ะ
ตอบลบOK......
ตอบลบ