ส่วนประกอบของพิณ


ส่วนประกอบของพิณ
๑ เต้าพิณ
     กรณีเป็นพิณโปร่ง เต้าพิณคือส่วนที่เป็นโพรง ซึ่งเป็นส่วนที่จะขยายสัญญาณเสียงให้ดังขึ้นนั่นเอง ประกอบจากไม้สองส่วนคือ ส่วนที่เจาะเป็นโพรงหรือตัวเต้า และส่วนที่เป็นแผ่นประกบปิด
     ตัวเต้าพิณโปร่ง จะต้องเป็นโพรงโบ๋ลงไป หากทำจากไม้ ก็ต้องเจาะ แต่ถ้าทำจากกะลา น้ำเต้า หรือกระดองเต่าก็ไม่ต้องเจาะ เพราะมีร่องโพรงอยู่แล้ว ขนาดความกว้าง ความลึกของโพรง มีความสัมพันธ์กับความกังวานของเสียงด้วยเช่นกัน โดยตัวเต้าที่มีขนาดใหญ่และลึก จะมีเสียงดังกว่าทุ้มกว่าเต้าพิณที่มีขนาดเล็กและตื้น
     แผ่นประกบ เป็นตัวรับและขยายสัญญาณเสียง หากแผ่นประกบหนาเกินไป จะขยายสัญญาณเสียงได้ไม่ดี ดังนั้น แผ่นประกบจึงควรให้บางๆ เท่าที่จะบางได้ แผ่นประกบที่เป็นไม้ จะเจาะรูเพื่อระบายลม และให้เสียงสะท้อนกลับออกมา แต่ถ้าเป็นหนัง ก็ไม่ต้องเจาะ คุณสมบัติของเสียงพิณโปร่ง จะขึ้นอยู่กับวัสดุของแผ่นประกบเป็นสำคัญ วัสดุต่างกัน คุณสมบัติเสียง และคุณภาพเสียงจะต่างกัน
     นอกจากนั้น บนแผ่นประกบ จะมีหย่องติดไว้ สำหรับรองรับสายพิณ ซึ่งตัวหย่องนี้ จะรับสัญญาณเสียง(การสั่นของสายพิณ) แล้วส่งต่อไปยังแผ่นประกบ
     กรณีเป็นพิณไฟฟ้า เต้าพิณไม่จำเป็นต้องมีโพรง และไม่มีแผ่นประกบ เพราะใช้อุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์ เป็นตัวรับและขยายสัญญาณเสียง ซึ่งตัวเต้าพิณ จะเจาะร่องสำหรับติดคอนแท็ค เจาะรูสำหรับร้อยสายไฟ ติดแจ็ครวมถึงตัวปรับอื่นๆ เช่น volume เป็นต้น
     เต้าพิณไฟฟ้า นิยมทำจากไม้เนื้อแน่น เพราะต้องการความคงทน และไม่จำเป็นต้องมีกำทอนดี ไม้ที่นิยมนำมาทำเต้าพิณไฟฟ้า คือไม้ประดู่

๒ คอพิณ
     คอพิณ คือส่วนที่ต่อออกมาจากตัวเต้าพิณ โตประมาณพอกำได้ ยาวประมาณ ๒ ฟุต หรือประมาณหนึ่งช่วงแขน โดยด้านโคน ต่อเข้ากับตัวเต้าพิณ ส่วนด้านปลาย เป็นส่วนที่ติดลูกบิดขึ้นสายพิณ และต่อหัวพิณเข้าไป(กรณีแยกหัวไว้ต่างหาก)
      ไม้ที่ทำคอพิณ ต้องแข็ง ซึ่งโดยมาก หากตัวเต้าเป็นไม้ มักจะใช้ไม้ชนิดเดียวกันกับตัวเต้าพิณนั่นเอง แต่หากตัวเต้าเป็นกะลา น้ำเต้า หรือกระดองเต่า ก็จะเลือกใช้ไม้คอพิณต่างหาก
      สมัยก่อน เนื่องจากยังไม่มีกาวติดไม้ชั้นเยี่ยม การทำพิณโปร่ง จึงทำจากไม้ชิ้นเดียว ไม่มีรอยต่อ แต่ปัจจุบัน ไม้หายากมากขึ้น และมีกาวชั้นเยี่ยมแล้ว จึงนิยมทำพิณโดยแยกตัวเต้าและคอพิณออก แล้วนำมาประกบติดกันด้วยกาว
     ด้านปลายคอพิณ เซาะร่อง และเจาะรูสำหรับติดลูกบิด และปลายสุด อาจเจาะรูสำหรับนำหัวพิณมาต่อ หรือทำเป็นหัวพิณเลยก็ได้

๓ หัวพิณ
     หัวพิณ คือส่วนที่ต่อจากคอพิณไป เป็นส่วนประกอบเพื่อให้พิณสมบูรณ์สวยงาม สมัยก่อน มักทำพิณด้วยไม้ท่อนเดียว หัวพิณจึงติดกับคอพิณเลยแต่ปัจจุบัน ไม้หายากขึ้น จึงแยกหัวพิณออกเป็นส่วนต่างหาก และนำมาประกบเข้ากับปลายคอพิณทีหลัง ซึ่งหัวพิณ นิยมทำเป็นรูปหัวพญานาค แต่ช่างพิณบางคน ทำเป็นรูปหัวหงส์ก็มี

๔ ขั้นแบ่งเสียง
     คือตัวแบ่งสเกลระดับเสียง หรือตัวแบ่งโน้ต ทำจากซี่ไม้ไผ่แบน ๆ นำมาติดเข้ากับคอพิณ หันด้านติวไม้ขึ้นรองรับสาย สมัยก่อน ติดขั้นพิณด้วยขี้สูด แต่ปัจจุบันใช้กาวติด นอกจากนั้น ปัจจุบัน นิยมทำขั้นพิณโดยใช้แท่งโลหะเล็กๆ เช่นลวด เป็นต้น

๕ หย่อง
     คือตัวควบคุมคีย์ของสายพิณขณะดีดสายเปล่า ซึ่งมีสองตัวคือ หย่องหน้าหรือหย่องเต้าพิณ ติดอยู่ที่ด้านหน้าเต้าพิณ และหย่องท้ายหรือหย่องด้านหัวพิณ จะติดด้านปลายคอพิณ ถัดจากขั้นพิณอันสุดท้าย พูดง่ายๆ หย่อง จะติดครอบขั้นพิณทั้งหมดเอาไว้ ตัวหย่องทำจากไม้เนื้อแข็ง บากร่องสำหรับพาดสายตามจำนวนสายพิณ

๖ ลูกบิดขึ้นสาย
     เป็นตัวยึดสายพิณ และปรับระดับคีย์ของสายพิณแต่ละสาย โดยติดเข้าด้านปลายของคอพิณ สมัยก่อน ทำจากไม้เนื้อแข็งเหลาเป็นแท่งกลมด้านปลายสอบเล็กลง ปัจจุบัน มีการนำเอาลูกบิดขึ้นสายของกีตาร์ มาใช้แทน เพราะสะดวกในการขึ้นสาย และปรับแต่งเสียงมากกว่า

๗ สายพิณ
     สมัยก่อน เนื่องจากสายกีตาร์ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย จึงนิยมใช้สายเบรกรถจักรยาน มาทำเป็นสายพิณ แต่ปัจจุบันนิยมใช้สายกีตาร์ เพราะหาง่าย ให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า โดยพิณโปร่ง ใช้สายกีตาร์โปร่ง พิณไฟฟ้า ใช้สายกีตาร์ไฟฟ้า

     สายพิณโปร่ง ควรใช้สายกีตาร์โปร่ง เพราะสายแข็งกว่า ให้เสียงดังกว่า และไม่ค่อยเป็นสนิม ซึ่งขนาดที่แนะนำ คือ
- สายที่ 1 (เส้นที่เล็กที่สุด) ขนาด 0.011 - 0.013 mm
- สายที่ 2 ขนาด 0.015 - 0.018 mm
- สายที่ 3 ขนาด 0.020 – 0.025 mm
- สายที่ 4 ขนาด 0.030 – 0.035 (เฉพาะพิณ 4 สาย)
     สายพิณไฟฟ้า ควรใช้สายกีตาร์ไฟฟ้า เพราะสายนิ่มกว่า ส่งสัญญาณเสียงทางไฟฟ้าได้ดีว่า (แต่ต้องดูแลให้ดี เพราะเป็นสนิมงาย) ซึ่งขนาดที่แนะนำ คือ
- สายที่ 1 (เส้นที่เล็กที่สุด) ขนาด 0.010 - 0.011 mm
- สายที่ 2 ขนาด 0.013 - 0.015 mm
- สายที่ 3 ขนาด 0.018 - 0.023 mm
- สายที่ 4 ขนาด 0.025 – 0.030 (เฉพาะพิณ 4 สาย)
     กรณีเป็นพิณสองหัว คอล่างใช้สายขนาดตามด้านบน ส่วนคอบน ใช้ขนาดดังนี้
- สายที่ 1 (เส้นที่เล็กที่สุด) ขนาด 0.008 – 0.009 mm
- สายที่ 2 ขนาด 0.011 - 0.013 mm
- สายที่ 3 ขนาด 0.015 - 0.018 mm (พิณที่มีสองหัว ไม่นิยมสี่สาย)
     ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสไตล์การเล่นพิณของแต่ละคน และความสูงของขั้นพิณด้วย เช่น หากเล่นสไตล์ดุ หรือสไตล์ห้าว มันๆ ควรใช้สายพิณขนาดค่อนข้างโต หากเล่นสไตล์หวาน นุ่ม ควรใช้สายพิณขนาดเล็ก หรือหากขั้นพิณสูง ควรใช้สายขนาดโต เพราะหากขั้นพิณสูงแล้วใช้สายขนาดเล็ก เวลาจับโน้ต (บางคนกดแรง) อาจทำให้เสียงเพี้ยนได้ง่าย หลักง่ายๆ คือ สายขนาดเล็ก คู่กับขั้นพิณที่ต่ำ กดนับโน้ตเพียงเบาๆ

๘ ปิ๊ก     ปิ๊กหรือที่ดีดสายพิณ สมัยก่อน ทำจากเขาควาย หรือหากไม่มีเขาควายก็ใช้ไม้เนื้อแข็ง เหลาให้บาง ด้านปลายแหลมมน ต่อมา ก็ใช้ขวดพลาติก เช่นแกลลอนน้ำมัน เป็นต้น แทน ปัจจุบัน เมื่อพัฒนามาใช้สายกีตาร์แทน ก็เลยใช้ปิ๊กกีตาร์ไปด้วย










ที่มา : ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.isan.clubs.chula.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น